เจ้าที่ มีกี่ประเภท

 เจ้าที่ มีกี่ประเภท ที่ควรแก่การเคารพบูชา

คนเรามีหลายประเภท  เจ้าที่ก็มีหลายประเภทเช่นกัน เราจะพูดถึงเจ้าที่ ที่ควรแก่การเคารพบูชาเท่านั้น ส่วนพวกที่มาจ้องจะมากินแต่เครื่องเซ่นสังเวยนั้น เราจะไม่กล่าวถึง ซึ่งเราจะแบ่งเจ้าที่ตามสถานที่สถิต  สามารถแบ่งได้ดังนี้.

๑. เจ้าที่ประจำบ้าน หมายถึง  เจ้าที่ ที่อยู่คุ้มครองแต่เฉพาะบ้านเรือนเท่านั้น  มีพื้นที่การดูแลไม่กว้างขวางเท่าไรนัก  หากเป็นคนไทยก็มักจะเรียกว่า  ผีบ้านผีเรือน หรือ  ผีคุณปู่ ผีคุณย่า ผีคุณตา ผีคุณยาย ถ้าสูงกว่านั้นก็จะเรียกว่า พระภูมิ-เจ้าที่  หากเป็นคนจีนก็มักจะเรียกว่า ตี่จู้เอี้ย

๒. เจ้าที่ประจำสถานที่ต่างๆ  หมายถึง เจ้าที่ ที่อยู่คุ้มครองสถานที่  ซึ่งมิใช่ที่อยู่อาศัย  มักมีพื้นที่การดูแลความรับผิดชอบกว้างขวางเช่น

 - เจ้าที่ประจำป่าเขา หรือ  ที่เรามักเรียกกันว่า  เจ้าป่าเจ้าเขา  นั่นเอง

 - เจ้าที่ประจำตำบล  เจ้าที่ประจำเมือง เจ้าที่ประจำสุสาน

ยังแบ่งเจ้าที่ออกได้อีก ๓ ประเภทใหญ่ๆตามที่มาที่ไปดังนี้.

๑. เจ้าที่  จากบงการสวรรค์ หมายความง่าย ๆ  ก็คือเจ้าที่ ที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ในการคุ้มครองดูแลสถานที่ต่างๆ มาจากสวรรค์ และผู้สั่งการก็คือ พระอินทร์ หรือ องค์อมรินทราธิราช หากเป็นคนจีนก็จะรู้จักกันในหลายชื่อ  ซึ่งแตกต่างกันไปตามสำเนียงภาษา เช่น เง็กเซียนฮองเต้  เง็กอ๊วงเสี่ยงตี้ หรือ  เง็กเสี่ยงอ๊วงตี้  ซึ่งมีอำนาจในการช่วยเหลือและดลบันดาลสิ่งต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ  เพราะได้รับอำนาจและอิทธิฤทธิ์มาจากสวรรค์โดยตรง  มีหน้าที่ทำตามคำบัญชาจากสวรรค์อย่างเคร่งครัด  ดังนั้นจะคิดทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้นัก  มีจุดมุ่งหมายอยู่สองประการได้แก่

       คอยคุ้มครองดูแลสถานที่ที่ตนได้รับมอบหมาย  

       เร่งสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์  เพื่อยกระดับหรือศักดิ์ศรีของตนเองให้สูงขึ้น มีบุญญาบารมีสูงส่งขึ้น

       หากเป็นโลกมนุษย์ ก็เรียกว่า  ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง  ซึ่งในหมู่เทพเทวาเขาก็มีเหมือนกัน ไม่ต่างกับเรา

       เพียงแต่วิธีการและจุดมุงหมายเป็นไปในทางที่ดี  ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน และไม่เหยียบหัวใครขึ้นมาใหญ่  เหมือนพวกมนุษย์ ที่ชอบทำกัน

 ๒.  เจ้าที่  ประจำศาลเจ้าต่างๆ คือ  เจ้าที่  ที่อยู่ประจำศาลต่างๆ ซึ่งเป็นที่สถิตของเทพชั้นสูงหรือเซียนทั้งหลาย ทำให้เป็นเจ้าที่  ที่ต้องอยู่ในกฎในระเบียบอย่างมาก เพราะอยู่ใกล้กับเทพชั้นสูงเหมือนเราอยู่ใกล้เจ้านาย  ต้องคอยระวังไม่ทำอะไรที่ไม่ดี  เจ้าที่  ที่อยู่ประจำศาลมีหน้าที่ดังต่อไปนี้  คอยอำนวยความสะดวกแก่เทพชั้นสูง  เป็นเหมือนแขนขาให้เทพชั้นสูง  ที่ลงมาให้ความช่วยเหลือมนุษย์ คอยรายงานความเคลื่อนไหวและทุกข์ภัยของมนุษย์ให้เทพชั้นสูงได้รับรู้ และยังมีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยทั่ว ๆ ไปของศาลเจ้าอีกด้วย

๓. เจ้าที่  ที่ไม่ได้มาจากบงการสวรรค์  เป็นเจ้าที่  ที่ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจของใคร  คิดจะทำสิ่งใดก็ไม่ต้องเกรงกลัวผู้ใด ท่านพวกนี้จะหาที่อยู่เองตามความสามารถและโอกาสอำนวย  เช่น มาอาศัยโดย เจ้าของบ้านไม่ได้ รับเชิญเอง หากบ้านนั้นๆ ไม่มีเจ้าที่เดิมอยู่ก่อน  มาลักไก่อาศัย  ในกรณีที่เจ้าของบ้าน ได้เชิญหมอตั้งศาล มาทำพิธีแต่ทำไม่เป็น ทำแบบไม่รู้จริง เป็นเหตุให้วิญญาณเร่ร่อน ที่ล่องลอยอยู่บริเวณนั้น ถือโอกาสเข้ามาอาศัยอย่างสะดวกสบาย โดยที่เจ้าของบ้านไม่รู้เห็นด้วยเลย นึกว่าเชิญเทพชั้นสูงมาอยู่ กลับเป็นสัมพเวสีเข้ามาอยู่แทน หากว่าวิญญาณที่มาอยู่ แทนเทพชั้นสูงนั้น  เป็นวิญญาณที่ดี ก็ยังดีที่ท่านจะคอยช่วยเหลือ ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้น เหมือนเป็นยาม คอยระวังภัยอันตรายต่าง ๆ ให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้น  เพื่อเป็นการตอบแทนที่คนในบ้านนั้น  ได้นำเครื่องเซ่นสังเวยมาถวายให้ แต่หากวิญญาณที่เข้ามาอยู่นั้น เป็นพวกที่ไม่ดี ก็จะสร้างความเดือดร้อนให้กับเจ้าของบ้านและผู้อยู่อาศัยในบ้านหลังนั้น ให้ได้รับแต่ความเดือดร้อนอยู่ตลอดเวลา